Monday, December 10, 2007

ประเพณี และวัฒนธรรมประจำจังหวัด นครปฐม



1.ประเพณีแห่ผ้าห่มองค์พระปฐมเจดีย์
• ช่วงเวลาที่จัด วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ หรือชาวบ้านเรียกว่า กลางเดือนสิบสอง แต่ทางวัดจัดให้มีงานล่วงหน้า ๒ วัน และหลัง ๑๕ ค่ำ ๒ วัน รวมเป็น ๕ วัน ๕ คืน คือตั้งแต่วันขึ้น ๑๓ ค่ำ ถึง แรม ๒ ค่ำ
• ความสำคัญ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ได้บูรณะองค์พระปฐมเจดีย์ทรงลังกากลมครอบเจดี​ย์เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๐๐ เป็นต้นมาจนเสร็จสมบูรณ์เป็นองค์พระเจดีย์ทรงลังกากลมเจดีย์ดั้งเดิมไว้ดังที่เห็นในปัจจุบ​ันนี้แล้ว ความศรัทธาได้เกิดขึ้นกับชาวเมืองนครปฐมและจังหวัดใกล้เคียงทั่วไปทั้งประเทศ มีผู้คนทุกสารทิศมาทำการบูชาองค์พระปฐมเจดีย์ใหญ่ที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า ดอกไม้ธูปเทียนและผ้าห่มองค์พระปฐมเจดีย์ ซึ่งมีความเชื่อกันว่า ได้บุญกุศล ส่งให้มีชีวิตที่ดีในอนาคต
• พิธีกรรม

-ขั้นที่ ๑ ประชาสัมพันธ์การจัดงานให้คนทั่วไปได้ทราบ ด้วยสื่อต่าง ๆ ล่วงหน้า เป็นการบอกให้สาธุชนมาแสวงหาบุญให้กับตนเอง -ขั้นที่ ๒ ผู้ประสงค์จะร่วมบุญจะเดินทางมาในวันที่กำหนด สมัยเมื่อทางรถยนต์ยังไม่เจริญ การเดินทางมาของคนต่างถิ่นต้องเดินเท้า พายเรือมาตามแม่น้ำลำคลอง และใช้เกวียนลากจูงด้วยควายและวัว ดังสถานที่ที่มีชื่อดั้งเดิมปรากฏอยู่ เช่น สะพานเกวียน คลองเจดีย์บูชา เป็นต้น มีการนอนค้างคืนรอบ ๆ ระเบียงคตบนองค์พระเจดีย์ ๑-๒ คืน เพื่อเที่ยวงานก่อนจะกลับบ้าน การมานมัสการองค์พระปฐมเจดีย์ ของพระสงฆ์วัดต่าง ๆ บางวัดจะนำผ้าเหลืองพระแห่มาถวายเพื่อห่มองค์พระปฐมเจดีย์ เช่น หลวงปู่บุญ ขันธโชติ เจ้าอาวาสวัดกลางบางแก้ว ริมแม่น้ำนครชัยศรี ห่างจากองค์พระปฐมเจดีย์ ๑๒ กิโลเมตร แห่ผ้ามาตามคลองเจดีย์บูชาสมัยเมื่อครั้งรัชกาลที่ ๖ เป็นต้น -ขั้นที่ ๓ พิธีเริ่มด้วยการบูชาพระรัตนตรัย กล่าวคำบูชาพระบรมสารีริกธาตุ กล่าวคำถวายผ้าห่มองค์พระปฐมเจดีย์ และจบด้วยการถวายจตุปัจจัยแด่พระสงฆ์ เพื่อใช้ในการบูรณะองค์พระปฐมเจดีย์ กลางคืนมีการจุดดอกไม้ไฟเป็นพุทธบูชา และการละเล่นต่าง ๆ เป็นการฉลอง
• สถานที่จัด บริเวณโดยรอบระหว่างกำแพงแก้วชั้นนอกและชั้นในขององค์พระปฐมเจดีย์
• ผู้ประกอบพิธี ทางวัดพระปฐมเจดีย์มักจะเชิญพระสงฆ์ระดับผู้ใหญ่มาเป็นประธานในพิธี ในปัจจุบันนิยมเชิญนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี และบุคคลสำคัญของประเทศมาเป็นประธาน ผู้ร่วมพิธีแต่ก่อนและปัจจุบันประกอบพิธีด้วยพระสงฆ์ ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน
• ค่าใช้จ่าย ปัจจุบันมีค่าใช้จ่ายในการจัดงาน ปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ประมาณ ๖.๒ ล้านบาท
• สาระ พุทธศาสนิกชนเชื่อว่าการได้มีส่วนทำบุญหรือบูชาปูชนียสถานสำคัญทางพุทธศาสนาแล้ว จะได้บุญกุศลส่งให้ชีวิตดีขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะพระเจดีย์ที่สูงใหญ่ที่สุดในโลก บรรจุพระบรมสารีริกธาตุเช่นนี้แล้ว ยิ่งจะได้รับความศักดิ์สิทธิ์มีผลสัมฤทธิ์จริง
• การสืบทอดประเพณี ระยะหนึ่งมีผู้ศรัทธาจองเป็นเจ้าภาพผ้าห่มองค​์พระปฐมเจดีย์ทุกปีกับทางวัดไว้ พอถึงใกล้วันงานประจำปีเขาจะซื้อผ้ามาถวายวัดไว้ ทางวัดก็จัดการนำผ้าที่ถวายไว้แล้วนั้นแห่รอบองค์พระปฐมเจดีย์ โดยเอาผ้าพับแล้วใส่พานตั้งไว้บนรถยนต์ที่ตกแต่งให้งดงาม มีนางฟ้าถือพานนั่งอยู่บนรถนำขบวนนั้นด้วย ติดตามด้วยขบวนของนักเรียนโรงเรียนต่าง ๆ จำนวนหลายร้อยคนเดินเฉย ๆ ไม่ได้ถือหรือมีกิจกรรมอันใด คนทั่วไปที่มาดูขบวนแห่บางคนไม่ทราบว่านักเรียนเดินแห่อะไร เพราะไม่ได้คลี่ผ้าออกมาให้คนทั่วไปเห็นชัด ๆ ได้แต่เดินตามกันไปดูไม่มีสาระว่าเป็นงานบุญ และบางปีมีหน่วยงานบางแห่งจัดขบวนล้อเลียนสังคมและการเมืองสร้างความสนุกสนาน ดูจะผิดวัตถุประสงค์ของงานบุญไป ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดนครปฐม สถาบันราชภัฏนครปฐม ได้พิจารณากิจกรรมดังกล่าวแล้วเห็นว่าไม่ค่อยเหมาะสม จึงนำเรื่องหารือในที่ประชุมของวัด ในที่สุดทางวัดจึงมอบให้ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัด ดำเนินการให้เหมาะสม ดังนั้นการแห่ผ้าห่มองค์พระปฐมเจดีย์จึงมีรูปแบบขบวนแห่ผ้าห่มองค์พระปฐมเจดีย์ ที่นำขบวนด้วยเครื่องสักการะพระบรมสารีริกธาต​ุด้วยเครื่องทองน้อย พานพุ่มเงินพุ่มทองและต้นไม้เงินต้นไม้ทอง ตามด้วยรถยนต์ที่มีนางฟ้าอัญเชิญผ้าห่มโดยคลี​่ผ้าให้ยาวออกไปจากตัวรถให้หมดทั้งผืน โดยมีนักเรียน ประชาชนแบกผืนผ้าเหลืองสำหรับองค์พระปฐมเจดีย​์ยาว ๗๐ เมตร ไว้บนบ่าเป็นขบวนยาวรอบองค์พระปฐมเจดีย์ ๑ รอบแล้ววางพักไว้ที่หน้าองค์พระปฐมเจดีย์ จัดให้คนทั่วไปได้เขียนชื่ออุทิศให้ผู้ล่วงลับไปแล้วบนผ้าเหลืองนั้น พอถึงวันพระ ๑๕ ค่ำ ทางวัดจึงนำขึ้นไปแห่เวียนเจดีย์ชั้นบน ๑ รอบ แล้วนำขึ้นไปห่มองค์พระปฐมเจดีย์ ตรงส่วนคอของเจดีย์ จึงเป็นการเสร็จพิธี และพิธีดังกล่าวนี้ได้ปฏิบัติกันมาถึงปัจจุบัน




2.ประเพณีแห่ธงสงกราน
♥ ช่วงเวลาที่จัด หลังเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งอาจจะเป็นวันหยุดราชการโดยเฉพาะวันเสาร์และอาทิตย์แต่ละวัดจัดไม่ตรงกันแล้วแต่ความพร้อม
♥ ความสำคัญ หลังจากออกพรรษาแล้วซึ่งย่างเข้าสู่หน้าหนาวและหน้าแล้ง ในช่วงเวลาดังกล่าวไม่มีการทำบุญตักบาตรที่วัดหลายเดือน พระภิกษุขัดสนเรื่องอาหารและเครื่องใช้ในการบำรุงวัดประกอบกับชาวบ้านหยุดทำนามีเวลาว่าง จึงคิดรวมตัวกันหาสิ่งของต่าง ๆ คือ จตุปัจจัยไทยทานไปถวายวัด อาจเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า การทอดผ้าป่า แต่ความคิดดังกล่าวเกิดจากคนไทยเชื้อสายลาวคร​ั่ง ชาวบ้านมักเรียกประเพณีว่า "ทอดผ้าป่าลาว"
♥ พิธีกรรมหรือกิจกรรม

-ขั้นที่ ๑ ในช่วงสงกรานต์ชาวบ้านซึ่งเป็นหมู่คนไทยเชื้อสายลาวครั่ง จะทำบุญตักบาตรที่วัดไปจนถึงวันที่ ๑๓ เมษายน ซึ่งเป็นวันมหาสงกรานต์ ในระหว่างที่ชาวบ้านออกจากบ้านไปทำบุญตักบาตรนั้น ทุกหมู่บ้านจะจัดขบวนกลองยาวเดินทางไปตามบ้าน คนในระแวกนั้นเพื่อบอกบุญว่าจะมีการทอดผ้าป่า ชาวบ้านจะทำบุญด้วยเงินตามแต่จะศรัทธาตามกำลังทรัพย์ เช่น ๑๐ บาท ถึง ๑๐๐ บาท ผู้นำขบวนมักจะเป็นคนที่ชาวบ้านรู้จักและไว้ใจได้ มักทำกิจกรรมนี้ในตอนบ่าย ๆ เมื่อได้เงินทำบุญแล้วจึงรวบรวมไว้ -ขั้นที่ ๒ แต่ละหมู่บ้านประชุมกันเพื่อวางแผนจัดทำขบวนผ​้าป่า เพื่อแห่ไปวัดมีการจัดหาสิ่งของเครื่องใช้ ที่จำเป็นสำหรับทางวัด หรือสิ่งที่ทางวัดยังขาดแคลนอยู่เพื่อใช้ในการพัฒนาวัดเตรียมไว้ เช่น เสื่อสำหรับปูนั่งบนศาลา พรมปูพื้น ผ้าม่านตกแต่งผนัง จอบ กระป๋องตักน้ำ ไปจนถึงเครื่องยนต์สูบน้ำ ฯลฯ แต่ปัจจุบันมักจะรวบรวมเงินไว้ให้มากเป็นหลัก แล้วแต่ทางวัดต้องการสิ่งใดให้จัดซื้อเอาเอง สิ่งที่ขาดเสียมิได้คือ วัสดุที่เป็นผืนเป็นแผ่น เช่น พรมหรือผ้าม่าน ซึ่งสามารถนำมาแขวนไว้ที่ปลายธง ได้เวลาแห่ขบวนไปวัด -ขั้นที่ ๓ ชาวบ้านจะตัดไม้ไผ่ลำที่ตรงมีความยาวทั้งลำมาทำเป็นเสาธง ซึ่งอาจจะยาวถึง ๑๐ เมตร ลิดกิ่งใบออกเหลืองยอดเป็นแขนงไว้พองาม เพื่อแขวนธงตกแต่งด้วยการขัดและทาน้ำมันให้ดูดี อาจจะพันด้วยกระดาษสีก็ได้ซึ่งทำโดยฝ่ายชาย ส่วนฝ่ายผู้หญิงจะนำผืนพรมที่ซื้อมานั้น พับให้เป็นผืนขนาด ๖๐x๑๐๐ ซม. เย็บให้ติดกัน ทำที่แขวนและทำชายธงด้วยดอกรักร้อยเป็นอุบะตาข่ายปลายแหลม สำหรับแขวนไว้ปลายเสาธงให้ห้อยลงมา ที่ผืนธงนั้นอาจจะปักเป็นตัวอักษรชื่อหมู่บ้านด้วยดอกไม้ก็ได้ -ขั้นที่ ๔ การจัดรูปขบวนนั้นทำด้วยผ้าไตรใส่พานแว่นฟ้า ตามด้วยของใช้ถวายพระ พุ่มธนบัตรเสียบไม้ปักกับต้นกล้วยหรือลูกมะพร​้าว วงกลองยาว นางรำหน้ากลองยาว ชาวบ้าน และปิดท้ายขบวนด้วยชายหนุ่มแบกเสาธง เสาธงเป็นไม้ไผ่ทั้งลำจึงต้องแบก ๒-๔ คน ในระหว่างที่เดินผ่านคนดูสองข้างทาง เมื่อถึงบริเวณวัด ผู้แบกเสาธงอาจจะทำให้เกิดความสุขสนุกสนานก็ได้ เช่นชักเย่อเสาธงไป-มา จับตนขึ้นไปนั่งบนเสาธงแล้วโยนทั้งเสาธงและคนให้ลอยขึ้นไปแล้วรับไว้ให้เกิดความหวาดเสียวแก่คนดู เป็นต้น เมื่อถึงโบสถ์จะวนโบสถ์ ๓ รอบ แล้วนำเสาธงผูกธงที่ปลายแล้วปักลงหลุมซึ่งเตร​ียมไว้แล้วที่ลานวัดก่อนปักลงหลุมมีการจุดประทัดหรือโห่ร้องก็ได้ ส่วนของถวายพระและพุ่มธนบัตรถวายพระหรือส่งที​่กรรมการวัดไว้ก็ถวายพระ ซึ่งจะเสร็จสิ้นพิธีแห่นี้ในเวลาประมาณ ๑๗.๐๐ น. และในคืนนี้อาจมีการละเล่นมหรสพฉลองผ้าป่าก็ได้ -ขั้นที่ ๕ เวลาเช้า ๗.๓๐ น. มีการทำบุญตักบาตรบนศาลาวัด เสร็จแล้วกล่าวคำถวายผ้าป่าโดยโยงสายสิญจน์จากธงทุกต้นที่ปักไว้ วัดหนึ่ง ๆ อาจมีธงถึง ๕-๘ ต้น แล้วแต่ชาวบ้านจะจัดหามา ในตอนบ่ายชาวบ้านจะนัดกันทำความสะอาดวัด เช่น ช่วยกันตักน้ำล้างศาลา พัฒนาวัด เสร็จแล้วจึงนิมนต์พระลงมาที่ลานวัด เพื่อให้ชาวบ้านได้สรงน้ำพระทั้งวัด หลังจากนั้นชาวบ้านจึงรดน้ำซึ่งกันและกันเป็น​การสนุกสนานสำหรับหนุ่มสาวในหมู่บ้านมีการรดนของพรจากผู้ใหญ่ด้วยเช่นกัน
♥ สถานที่จัด ประเพณีแห่ธงสงกรานต์ในจังหวัดนครปฐมจะจัดขึ้นในท้องถิ่นที่มีคนไทยเชื้อสายลาวครั่งอาศัยอยู่มาก เช่น ที่วัดโพรงมะเดื่อ อำเภอเมืองนครปฐม วัดกงลาด อำเภอดอนตูม วัดลำเหย อำเภอดอนตูม เป็นต้น
♥ ผู้ประกอบพิธี นำโดยผู้ใหญ่บ้านหรือกำนันและชาวบ้านร่วมกับเจ้าอาวาสวัด ผู้ร่วมพิธีได้แก่ ชาวบ้านละแวกนั้น คนจากต่างจังหวัด นักท่องเที่ยวที่ทราบข่าว
♥ ค่าใช้จ่าย ทางวัดจะจ่ายค่าอาหารเลี้ยงผู้นำผ้าป่ามาทอด มหรสพอาจมีผู้ศรัทธาเป็นภาระให้ชาวบ้านที่นำผ​้าป่ามาทอดเป็นผู้ถวายเงินเข้าวัด
♥ สาระ ชาวบ้านได้ทำบุญคือบริจาคทรัพย์บำรุงศาสนาและ สาธารณสถาน ถวายอาหารแด่พระสงฆ์รักษาศีลและฟังธรรมตามเทศกาล ได้สรงน้ำพระรดน้ำของพระจากผู้ใหญ่ ได้ให้ของขวัญแก่ผู้มีพระคุณ เป็นการสร้างความรักความสามัคคีในครอบครัวและชุมชน
♥ การสืบทอดประเพณี ชาวไทยเชื้อสายลาวครั่งในจังหวัดนครปฐม ได้สืบทอดประเพณีนี้มานับชั่วอายุคน ปัจจุบันยังนิยมประกอบพิธีนี้อยู่และพัฒนาราย​ละเอียดขึ้นเรื่อย ๆ แต่สาระยังเหมือนเดิม แหล่งที่มีประเพณีนี้ที่เป็นหลักมีอยู่ ๒ วัด วัดโพรงมะเดื่อ และวัดกงลาด